มาทำความรู้จักกับสาร "ไซยาไนด์" ไม่มีสี แต่พิษแค่ปลายเล็บก็ตายได้ - winnapa.co.th http://www.winnapa.co.th/

มาทำความรู้จักกับสาร “ไซยาไนด์” ไม่มีสี แต่พิษแค่ปลายเล็บก็ตายได้

มาทำความรู้จักกับสาร “ไซยาไนด์” ไม่มีสี แต่พิษแค่ปลายเล็บก็ตายได้

มาทำความรู้จักกับสาร "ไซยาไนด์" ไม่มีสี แต่พิษแค่ปลายเล็บก็ตายได้

ไซยาไนด์ สารพิษร้ายแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต มาทำความรู้จักกับสารชนิดนี้กันค่ะ และอาการแบบไหนที่เป็นพิษของไซยาไนด์และมีวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างไรบ้าง วันนี้ วิณพา จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยนี้กันค่ะ

ไซยาไนด์คืออะไร อันตรายแค่ไหน?

ไซยาไนด์ (cyanide) เป็นสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลด์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิค สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หาไซยาไนด์ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์  อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

“ ไซยาไนด์ ” สารพิษไม่มีสี แต่พิษแค่ปลายเล็บก็ตายได้

สารชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา โดยระดับความรุนแรงจากพิษของไซยาไนด์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ชนิดของสิ่งมีชีวิต, ระยะเวลาการได้รับ, ปริมาณที่ได้รับ และเส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด เป็นต้น โดยผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. ภาวะเป็นพิษเฉียบพลัน : เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
  2. ภาวะเป็นพิษเรื้อรัง : เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

ไซยาไนด์รูปแบบไหนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต?

สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป

- Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง

- Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อเจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ

- Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

- Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม

หากสัมผัสกับไซยาไนด์ควรรับมืออย่างไร? 

  • การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษไปด้วย จากนั้น จึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
  • การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
  • การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้น ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ

วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไซยาไนด์

การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนไซยาไนด์ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์อาจมาในรูปแบบของควันได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของไซยาไนด์
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ